ลักษณะผลิตภัณฑ์หรือบริการ และการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจ

ปัจจุบัน บริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อที่มีหลักประกันและสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งรวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (“ธปท.”) โดยบริษัทฯ

  • ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์)
  • ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ จากกระทรวงการคลัง ในเดือนมีนาคม 2562 และเดือนมิถุนายน 2562 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อของบริษัทฯ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักตามลักษณะความเสี่ยงด้านหลักประกันของสินเชื่อ ดังนี้

สินเชื่อที่มีหลักประกัน

สินเชื่อเช่าซื้อ

บริษัทฯ ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) แก่ลูกค้ารายย่อยทั่วไปที่ต้องการซื้อรถยนต์มือสอง ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์กระบะ รถจักรยานยนต์ รถใช้เพื่อการเกษตร เป็นต้น

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 รายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อเช่าซื้อ คิดเป็นร้อยละ 30.0 ของรายได้รวมทั้งหมด

สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน

สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เป็นการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อยทั่วไปที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถ โดยใช้ใบคู่มือจดทะเบียนรถเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ และต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถ โดยลูกค้าชำระค่างวดเป็นรายเดือนซึ่งประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ย

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัท มีรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน คิดเป็นร้อยละ 53.4 ของรายได้รวมทั้งหมด

ตัวอย่างประเภทรถที่ใช้เป็นหลักประกัน

รถยนต์นั่งส่วนบุคคล
รถยนต์กระบะ
รถตู้
รถจักรยานยนต์
รถยนต์บรรทุก
รถใช้เพื่อการเกษตร

สินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน

วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ มีรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นประกัน คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของรายได้รวมทั้งหมด

สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน

ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เป็นสินเชื่ออเนกประสงค์สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาทั่วไปที่มีรายได้สม่ำเสมอ มีเอกสารรับรองรายได้ เช่น ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และพนักงานบริษัทฯ เป็นต้น

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ มีรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ร้อยละ 0.6 ของรายได้รวมทั้งหมด

สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

บริษัทฯ ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แก่ลูกค้ารายย่อยทั่วไปที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพสำหรับลูกค้าที่ไม่มีเอกสารรับรองรายได้หรือไม่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน โดยจะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบอาชีพที่มีหลักแหล่งแน่นอน มีหลักฐานและสถานที่ประกอบอาชีพ และมีรายได้จากการประกอบอาชีพที่ชัดเจน ซึ่งบริษัทฯ จะเข้าไปประเมินรายได้ ตรวจสอบ และถ่ายภาพสถานที่ประกอบอาชีพไว้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาสินเชื่อ หรือเป็นผู้ที่มีเอกสารรับรองการทำอาชีพ เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนการค้า สมุดทะเบียนเกษตรกร เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อ

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ มีรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ร้อยละ 3.7 ของรายได้รวมทั้งหมด

สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน
นายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต

บริษัทฯ ให้บริการนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิตผ่านเครือข่ายสาขา โดยบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตเป็นหน้านายประกันวินาศภัย และนายหน้าประกันชีวิต จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (“คปภ.”) ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิตให้แก่บริษัทประกันชั้นนำ จำนวน 14 บริษัท ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยรถจักรยานยนต์ ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทฯ จะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่านายหน้าจากบริษัทประกันตามอัตราที่ตกลงร่วมกัน ซึ่งบันทึกบัญชีภายใต้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในงบการเงินของบริษัทฯ

การพัฒนานวัตกรรมธุรกิจ

บริษัทให้ความสำคัญกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของระบบสารสนเทศ และการให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนี้ทำเพื่อรองรับความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อีกทั้งยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น บริษัทจึงได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้รองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมถึงเตรียมพร้อมสำหรับการขยายตัวของบริษัทต่อไป

ปัจจุบันบริษัทได้เริ่มนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพและกระบวนการการดำเนินงานของบริษัท เพื่อให้ลูกค้าได้รับการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และทันสมัย เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้า การรับชำระเงิน การติดตามทวงถามหนี้ การบริหารจัดการสาขา การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการ ได้สะดวก และรวดเร็ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูลสารสนเทศเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบริหารจัดการสารสนเทศของบริษัทจะถูกจัดการได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย โดยบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001 ด้านระบบบริหารฝ่ายจัดการความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศ (Information Security Management System) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน

การพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศรวมถึง Core Leasing System Architecture และ แผนการพัฒนาระบบสารสนเทศในระยะ 1-3 ปี (3-Year IT Roadmap)

จากแผนการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทได้ตัดสินใจลงทุนในการพัฒนาระบบสารสนเทศหลัก (Core Leasing System) โดยได้ประเมินถึงความสามารถในการตอบสนองต่อทิศทางและเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของบริษัทในอนาคต และความยั่งยืนของเทคโนโลยี โดยแผนการพัฒนาระบบสารสนเทศในระยะ 1-3 ปี จะแบ่งเป็น 3 ระยะคือ

แผนระยะสั้น ปี 2567 มุ่งเน้นปรับปรุงแก้ไขโครงการแบบ Digitize and Transform แบบ Quick Wins เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน เพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจด้วยการพัฒนาระบบการติดต่อสื่อสารภายในบริษัท ปรับกระบวนการทำงานและระบบ เพื่อให้เป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ E-KYC, E-Consent, E-Signature, E-Application, E-Contract, E-Stamp Duty, E-Tax เป็นต้น รวมถึงการพัฒนา Robotic Process Automation เพื่อลดการทำงานที่ซํ้าซ้อนและลดความผิดพลาดในการทำงาน

แผนระยะกลาง ปี 2567-2568 เปลี่ยนโครงสร้างระบบสารสนเทศหลัก (Core Leasing System) ให้เป็น Modernization สามารถสร้างผลิดภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ๆ ได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในตลาด มีฟังก์ชั่นครบถ้วน และสามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เพิ่มความปลอดภัย และลดความเสี่ยงความผิดพลาดของระบบ มีการนํากระบวนการสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) มาใช้สำหรับการวางแผนเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการพัฒนา Mobile Platform เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทั้งพนักงานบริษัทและลูกค้าที่มาใช้บริการ และพัฒนาระบบจัดเก็บเอกสาร (Document Management System) ให้สามารถตอบสนองการให้บริการที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด

แผนระยะยาว ปี 2569 เป็นต้นไป วางแผนพัฒนากระบวนการจัดทำรายงานที่มีประสิทธิภาพ Optimize and Adjust เพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจ รวมถึงจัดทําระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ โดยการนำระบบธุรกิจอัจฉริยะ Business Intelligence Tool มาใช้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจ Business Collaboration กับคู่ค้า และองค์กรต่าง ๆ